สเต็มเซลล์คืออะไร

สเต็มเซลล์ คือเซลล์ต้นกำเนิด มี

 

1. Hematopoietic Stem Cell (HSC)

       เป็นเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดและองค์ประกอบของเลือดเพื่อไปทดแทนเซลล์และ องค์ประกอบของเลือดที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุ โดยจะแบ่งตัวและเจริญเติบโตไปเป็นเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่นำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย,เม็ดเลือดขาว ซึ่งช่วยต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค และเกล็ดเลือดที่ทำให้เลือดหยุดไหลเมื่อเกิดบาดแผล (D Bryder et., al.2006)

แหล่งที่มาของเซลล์ชนิด HSCs ได้แก่ เซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก (Bone Marrow), เซลล์ ต้นกำเนิดจากกระแสโลหิต (Peripheral Blood Stem Cells) และเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสายสะดือ (Umbilical Cord Blood Stem Cells) เป็นต้น

รูปที่.1 รูปแสดงการพัฒนาของเซลล์กลุ่มเม็ดเลือด เซลล์ในระบบเลือดทั้งหมดพัฒนามาจากจุดเริ่มต้นนั่นคือ Hematopoietic Stem Cells.

ความพิเศษของ Umbilical Cord Blood Stem Cells

       เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดจากสายสะดือมีความพิเศษที่เหนือกว่าสเต็มเซลล์ในกลุ่มเดียวกันนี้ที่ได้ มาจากแหล่งอื่น กล่าวคือ นอกจากจะสามารถใช้ได้กับเจ้าของสเต็มเซลล์ (Autologous) แล้วนั้น ยังมี ความสามารถในการเข้ากันกับผู้รับได้ดีมากเมื่อทำการปลูกถ่ายให้แก่บุคคลอื่น (Allogeneic Transplantation) ซึ่งการเกิด Graft-Versus-Host Disease มีอัตราการเกิดน้อย เมื่อเทียบกับการใช้ HSCs จากแหล่งอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า เซลล์จากเลือดจากสายสะดือที่ปลูกถ่ายสามารถเข้าไป และเจริญแบ่งตัว ได้ดีกว่าจากแหล่งอื่นอีกด้วย

Umbilical Cord Blood Stem Cells สามารถนำไปใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง (S Roura et., al.2006)

  • 1. กลุ่มโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของไขกระดูก
  • 2. โรคมะเร็งระบบเลือด เช่น Leukemia หรือมะเร็งอื่น ๆ ที่ต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด
  • 3. โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด
  • 4. โรคเกล็ดเลือดผิดปกติ
  • 5. โรคเม็ดเลือดแดงผิดปกติ
  • 6. กลุ่มโรคโลหิตจางจากสาเหตุต่างๆ และจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการถ่ายเลือดเป็นประจำ
  • 7. กลุ่มโรคธาลัสซีเมีย
  • 8. กลุ่มโรคพันธุกรรมเมตาโบลิก

 

2. Mesenchymal Stem Cell (MSCs)

       Mesenchymal Stem Cell (MSCs) เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่มีการศึกษาวิจัยและการนำไปใช้ ทางคลินิกกันอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากโรคของความเสื่อมเป็นโรคที่พบมาก ในปัจจุบัน โดยเซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้ถูกค้นพบโดยได้รับการจัดกลุ่มเซลล์นี้ โดย Friedenstein AJ และ คณะ (1968) และมีการศึกษาอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน ทำให้แพทย์ที่ได้ทำการศึกษาและติดตาม งานวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้มีความมั่นใจและได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ทางคลินิกมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ได้มาตรฐานการใช้เซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้ในการรักษาผู้ป่วย ในปี 2006 จึงได้กำหนด มาตรฐานของ MSCs โดยสมาคมเซลล์บำบัดนานาชาติ (The International Society of Cellular Therapy) (Dominici M. et al.,2006) ดังนี้

1. MSCs ต้องเป็นเซลล์ที่ต้องมีการเพาะเลี้ยงและเกาะพื้น (Adherent Cell) บนถาดเลี้ยงเซลล์ มีลักษณะ หัวแหลมท้ายแหลม (Spindle Shape Cell)

2. MSCs ต้องมีการแสดงออกเฉพาะบนผิวเซลล์ต่อ CD73, CD90, CD105 และต้องไม่แสดงออก ของ CD45, CD34, CD14 หรือ CD11b, CD79alpha หรือ CD19 และ HLA-DR

3. MSCs ที่ได้ต้องมีความสามารถในการเจริญพัฒนาไปเป็นเซลล์กระดูก (Osteoblast, Chondroblasts) และเซลล์ไขมัน (Adipocyte) ได้ภายได้การทดสอบที่เป็นมาตรฐาน

จากมาตรฐานดังกล่าวเซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้จะต้องมีการเพาะเลี้ยง มีการตรวจสอบ ลักษณะเฉพาะ และมีการตรวจสอบความสามารถในการเจริญพัฒนาก่อนนำมาใช้ การเพาะเลี้ยงเซลล์ ต้นกำเนิดชนิดนี้เพื่อใช้ทางคลินิกหรือใช้รักษาผู้ป่วย ต้องเลี้ยงในห้องปฏิบัติการที่สะอาดมาก เช่น Clean Room Class 100 และต้องได้รับมาตรฐานสากล เช่น ISO, GMP, GLP เป็นต้น และที่สำคัญ การตรวจสอบความปลอดภัยของเซลล์ก่อนที่จะนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการรักษามีความจำเป็นอย่าง มาก ทั้งในส่วนของการตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อราและแบคทีเรีย การปนเปื้อนเชื้อไมโครพลาสมา และการปนเปื้อนเอนโดท๊อกซิน รวมไปถึงการทดสอบความปลอดภัย (Sterility Test) ที่ต้องทำภายใต้ ระบบคุณภาพ GMP ของโรงงานเภสัชกรรมขั้นสูง

MSCs เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายของตัวเองเป็นส่วน ใหญ่ จึงมีความปลอดภัยสูง และจากการศึกษาพบว่าเซลล์ต้นกำเนิด MSCs นี้มีการแสดงออกของ HLA ต่ำมาก ทำให้มีโอกาสเกิดการต่อต้านของเซลล์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับน้อยมาก (Klyushnenkova et al., 2005) ซึ่งถือเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา แต่การรักษาด้วยเซลล์ต้น กำเนิดชนิด MSCs ในประเทศไทยนี้ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่แพทย์ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนี้ยัง ไม่มากพอเมื่อเทียบกับความรู้เรื่องเซลล์ต้นกำเนิดของเลือดที่ใช้รักษาโรคความผิดปกติของเลือดที่มี มานาน ดังนั้นการรักษาด้วย MSCs นี้ในประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีความรู้ เฉพาะหรือผ่านการอบรมในสถาบันหรือหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับได้ เช่น สมาคมเซลล์บำบัดไทย เป็นต้น

 

อ้างอิง

1.David Bryder, Derrick J. Rossi, and Irving L. Weissman. Hematopoietic Stem Cells. Am J Pathol. 2006;169(2): 338–346.

2.Dominici, M. et al. Minimal criteria for defining multipotent mesenchymal stromal cells. The International Society for Cellular Therapy position statement. Cytotherapy, 2006;8:315–317.

3.Friedenstein A. J., Petrakova K. V., Kurolesova A. I., Frolova G. P. Heterotopic of bone marrow. Anal. Precursor Cells Osteogenic Hematopoietic Tissues. Transpl. 1968;6 230–247.

4.Jagannathan-Bogdan, M. & Zon, L. I. Hematopoiesis. Development, 2013;140:2463–2467.

5.Klyushnenkova E., Mosca J.D., Zernetkina V., Majumdar M.K., Beggs K.J., Simonetti D.W., Deans R.J., McIntosh K.R. T cell responses to allogeneic human mesenchymal stem cells: immunogenicity, tolerance, and suppression. J. Biomed. Sci., 2005;12:47–57.

6.Santiago Roura, Josep-Maria Pujal, Carolina Gálvez-Montón, and Antoni Bayes-Genis. The role and potential of umbilical cord blood in an era of new therapies: a review. Stem Cell Res Ther. 2015; 6(1): 123.

7.Mark L. Weiss and Deryl L. Troyer., 2006